จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพฤหัสบดีที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2556


ประวัติความเป็นมาของเรือพระราชพิธี (๒)

     อย่างไรก็ดี เรือพระราชพิธีเป็นชื่อที่ใช้เรียกรวมถึงเรือชนิดต่างๆ ซึ่งใช้ประกอบในกระบวน พยุหยาตราชลมารคโดยที่เรือเหล่านี้ล้วนมีลักษณะ และหน้าที่ต่างกันออกไป
     ในกระบวนพยุหยาตราชลมารค นั้น เรือที่สำคัญที่สุดคือ เรือพระที่นั่ง ซึ่งเป็น เรือที่พระมหากษัตริย์ประทับ ถ้าหากจะเทียบประเภทกับเรือรบโบ ราณแล้วเรือชนิดนี้ก็คือเรือไชยนั่นเอง เรือพระที่นั่งทุกลำจะประดับประดา และเขียนลวดลายวิจิตรยิ่งแต่มีข้อที่แตกต่างจากเรือลำอื่นก็คือเรือพระที่นั่ง จะไม่มีการกระทุ้งเส้าให้จังหวะฝีพาย โดยเปลี่ยนมาใช้กรับแทน นอกเหนือจากนี้แล้ว เรือพระที่นั่งยังมีชื่อที่เรียกต่าง ๆ ออกไป ได้แก่
     - เรือต้น คือ เรือพระที่นั่งของพระมหากษัตริย์ ซึ่งในภายหลังหมายถึงเรือลำที่เสด็จ ฯ ลำลองเป็นการประพาสต้น
     - เรือพระที่นั่งทรง , เรือพระที่นั่งรอง คือ เรือลำที่พระมหากษัตริย์ประทับ และขณะเดียวกันก็มี เรือพระที่นั่งอีกลำสำรองไว้ในกรณีที่เรือพระที่นั่ง ทรงชำรุด
     - เรือพลับพลา คือ เรือที่ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์เปลี่ยนเครื่องทรง
     - เรือพระที่นั่งกิ่ง เป็นเรือชั้นสูงสุดของเรือพระที่นั่ง ซึ่งจะสวยงามเป็นพิเศษ มีความเป็นมาว่ากษัตริย์ไทยในสมัยอยุธยา พระองค์หนึ่งได้รับชัย ชนะกลับจากสงคราม มีผู้หักกิ่งไม้มาปักเข้าที่หัวเรือ นับแต่นั้นมาก็มีการเขียนลายกิ่งไม้ประดับที่หัวเรือด้วยและโปรดเกล้าฯให้เรียกว่า “เรือพระที่นั่งกิ่ง”
     - เรือพระที่นั่งเอกชัย เป็นเรือพระที่นั่งเกือบเทียบเท่าเรือพระที่นั่งกิ่ง มีการแกะสลักลวดลายสวยงามเช่นกันมักโปรดเกล้าฯให้พระบรมวงศานุวงศ์ ประทับในเรือพระที่นั่งเอกชัยร่วมไปในกระบวน พยุหยาตราชลมารค ครั้นถึง สมัยรัตนโกสินทร์ก็แทบจะไม่มีการแบ่งแยกชั้น เรือพระที่นั่งกิ่ง และเรือ พระที่นั่งเอกชัยเลย
     - เรือพระที่นั่งศรีสักหลาด เป็นเรือที่มักดาดกัญญาด้วยสักหลาดทุกลำ ต่อมาเรียกเพียงสั้น ๆ ว่า “เรือพระที่นั่งศรี” เรือพระที่นั่งชนิดนี้มักมีลวด ลายสวยงามตลอดข้างลำเรือ ใช้สำหรับการเสด็จฯ ลำลอง ไม่ได้นำเข้ากระบวนพระราชพิธีต่อมาภายหลังได้นำเข้ากระบวนพยุหยาตราด้วยเช่นกัน
     - เรือพระที่นั่งกราบ เรือพระที่นั่งลำเล็กสำหรับใช้ถ่ายลำเสด็จเข้าคูคลองเล็กๆ
     - เรือพระประเทียบ คือเรือที่นั่งสำหรับเจ้านายฝ่ายใน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น