จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2556

เรือดั้ง


     เรือดั้ง เป็นเรือไม้ทาสีน้ำมัน ไม่มีลวดลายอย่างใด ใช้เป็นเรือกระบวนสายนอก กลางลำมีคฤห์ซึ่งมีนายทหารนั่งลำละ ๑ นาย ในเรือนี้มีพลปืน ๔ นาย และมีนายเรือ นายท้ายและฝีพาย ลำละ ๒๙ - ๓๕ คน ขึ้นอยู่กับขนาดของเรือ และมีคนกระทุ้งเส้าลำละ ๒ นาย เรือที่กระทุ้งเส้าในสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นพวกเรือชัย ซึ่งเป็นเรือชนิดที่มีทวนหัวตั้งสูงและงอนขึ้นไป ซึ่งกล่าวว่ามีลักษณะเช่นเดียวกับเรือกิ่ง แต่ไม่ทราบว่าต่างกันตรงไหน แต่ปัจจุบันเรือ ดั้งหัวเรือปิดทอง ถ้าหัวเรือยังเขียนลายน้ำยา ใช้เป็นเรือประจำยศพระราชาคณะ
     เรือดั้งในกระบวนพยุหยาตราชลมารค นั้น มีด้วยกัน ๒๒ ลำ มีชื่อเรียกตามลำดับ ตั้งแต่ เรือดั้ง ๑ ถึง เรือดั้ง ๒๒
     การแต่งกายของผู้ประจำเรือ ฝีพายเรือดั้ง สวมเสื้อผ้าสีดำริ้วทางแดง กางเกงผ้าสีแดงติดแถบสีดำ คาดผ้ารัดประคดสีแดงดอกขาว สวมหมวก ทรงประพาสสีดำติดแถบสีแดง รองเท้าหนังสีดำ
     ไม่พบหลักฐานที่สร้าง ส่วนมากมักจะซ่อมทำโดยการเปลี่ยนไม้ที่เก่าออก แล้วใส่ไม้ใหม่
     พ.ศ.๒๕๐๖ กรมอู่ทหารเรือได้ต่อเรือดั้ง ๖ ขึ้นใหม่ โดยวางกงเหล็กเพื่อให้เรือแข็งแรงและทนทานทำให้ตัวเรือหนักมาก
     พ.ศ.๒๕๒๔ ซ่อมใหญ่ เปลี่ยนไม้ตัวเรือที่ผุและชำรุดใหม่บางส่วน ทาสีตัวเรือใหม่ และอื่น ๆ เพื่อให้ทันใช้ในงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี ในวันที่๕ เมษายน พ.ศ.๒๕๒๕ เริ่มซ่อมทำตั้งแต่ ๔ กันยายน พ.ศ.๒๕๒๔ จนถึงวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๕ โดยมีบริษัท สหายสันต์ จำกัด เป็นผู้รับ เหมาซ่อมทำ
     สำหรับเรือดั้ง ๑๙ ได้รับการซ่อมทำเปลี่ยนตัวเรือไม้ กระดูกงู และกงใหม่เกือบทั้งหมด

วันพฤหัสบดีที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2556

พิพิธภัณฑ์เรือพระราชพิธี  กรุงเทพฯ

เสียงเห่กล่อมกระบวนเรือดังไปทั่วผืนลำน้ำเจ้าพระยาครั้งใด คลื่นมหาชนต่างก็ยินดีและเรียงรายอยู่ตลอดทั้งสองฝั่งน้ำกันอย่างเนืองแน่นเพื่อชมความยิ่งใหญ่อลังการของเรือลำต่างๆ ที่สรรสร้างขึ้นด้วยความวิจิตรบรรจงตามเอกลักษณ์ของไทย แปรเปลี่ยนเป็นความอลังการกลางลำน้ำที่จะหาชมไม่ได้จากที่ใดอีกแล้วในโลกใบนี้

 
ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารของโลกยุคปัจจุบัน ทันทีที่ฝีพายจ้วงน้ำครั้งแรก ภาพอันงดงามและน่าประทับใจก็ถูกเผยแพร่ออกไปทั่วโลก แม้กระทั่งชาวต่างชาติที่ไม่รู้อะไรเลยก็ยังเฝ้าติดตามชมด้วยใจจดจ่อ บ้างก็ลงทุนบินลัดฟ้าเพื่อมาชมวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่แห่งเมืองสยามนี้โดยเฉพาะ ยังไม่มีความเหมาะสมด้วยอุดมฤกษ์ชัยใดๆ ที่จะบ่งบอกให้เราได้รู้ว่าเมื่อไหร่จึงจะได้ชมความยิ่งใหญ่กลางลำน้ำเช่นนั้นอีก แต่ที่แน่ๆ ก็คือเรือพระราชพิธีลำเด่นจะยังคงอวดโฉมอยู่ ณ ริมเส้นเลือดใหญ่ของประเทศบริเวณปากคลองบางกอกน้อย ฝรั่งมังค่าผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาชมไม่เว้นแต่ละวัน...
...ควรแล้วละหรือ? ที่ชาวไทยอย่างเราจะไม่เคยย่างกรายเข้าไปชื่นชมอย่างใกล้ชิดสักครั้งหนึ่ง...



"พิพิธภัณฑ์เรือพระราชพิธี" ตั้งอยู่ตรงบริเวณปากคลองบางกอกน้อยที่เชื่อมออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่สมัยเดิมเป็นอู่หรือโรงเก็บเรือพระราชพิธีโดยอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของสำนักพระราชวังและกองทัพเรือในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง บริเวณบางกอกน้อยเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่ตกเป็นเป้าโจมตี ระเบิดลูกแล้วลูกเล่าได้ถูกทิ้งลงมายังบริเวณนี้ และบางส่วนก็ได้สร้างความเสียหายให้กับโรงเก็บเรือพระราชพิธีรวมไปถึงเรือบางลำด้วย (พ.ศ. 2487) ต่อมาในปี พ.ศ. 2490 สำนักพระราชวังและกองทัพเรือได้มอบหมายให้กรมศิลปากรทำการซ่อมแซมตัวเรือที่ได้รับความ เสียหายจากระเบิด

เรือพระราชพิธีเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญและประเมินค่ามิได้ ปัจจุบันนี้ชิ้นส่วนเรือบางส่วนที่ได้รับความเสียหายยังคงเก็บเอาไว้ให้ชมที่บริเวณเดียวกันเพื่อเป็นอนุสรณ์เตือนใจถึงผลร้ายของสงคราม เรือพระราชพิธีเป็นเรือที่มีความสำคัญและมีประวัติการจัดสร้างมายาวนานตั้งแต่ครั้งโบราณกาล ซึ่งถูกรังสรรค์ขึ้นด้วยความวิจิตรงดงามในฝีมือเชิงช่างอันล้ำเลิศทรงคุณค่าในงานศิลปกรรม และยังคงถูกนำมาใช้ในพระราชพิธีที่สำคัญในโอกาสต่างๆ มาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน

จากความสำคัญของโรงเก็บเรือพระราชพิธีดังกล่าว นี้เอง กรมศิลปากรจึงได้ขึ้นทะเบียนเรือพระที่นั่งต่างๆ ไว้เป็นมรดกของชาติ พร้อมทั้งยกฐานะของอู่เก็บเรือขึ้นเป็น "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี" ในปี พ.ศ. 2517 เพื่อสืบทอดวัฒนธรรมอันล้ำค่าสู่ชนรุ่นหลังสืบต่อไป

อาคารขนาดใหญ่โตหลังนี้ มองจากภายนอกแล้ว แทบไม่รู้เลยว่ามีสิ่งล้ำค่าอยู่ภายในหากมาจากทาง ถนนก็จะเป็นซอยของชุมชนเล็กๆ ที่อยู่หลังค่ายทหาร เรือ แต่การเดินทางอย่างเป็นทางการและนิยมมากเพื่อ มาถึงที่นี่ก็คือทางเรือ วิ่งข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาปาก คลองบางกอกน้อยเข้ามาไม่ไกล

เมื่อได้เข้ามาเห็นใกล้ๆ ในระยะประชิดความรู้สึกเป็นบุญตาก็บังเกิดขึ้นแทบจะในทันที ยามที่ลอยอยู่กลางลำน้ำก็แลดูเด่นเป็นสง่ายามจอดสงบนิ่งก็ดูยิ่งใหญ่อลังการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ และเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ ซึ่งมีโขน (หัวเรือ) สูงเด่นจนต้องแหงนคอตั้งบ่าเพียงแค่ทำให้เรือลอยอยู่กลางลำน้ำได้ก็ต้องใช้ฝีมือชั้นครู แต่เรือขนาดใหญ่และสูงแบบนี้นึกภาพตอนสร้างไม่ออกเลยทีเดียว ไม่เพียงแค่ความรู้สึกว่าเป็นบุญตาเท่านั้น อีกความรู้สึกที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันก็คือเลือดรักและภาคภูมิใจในชาติไทยที่เรามี

วัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ให้ใครต่อใครต้องทึ่งก็ฉีดซ่านไปทั่วร่างกายฝีมือเชิงช่างทางศิลปะที่สลักเสลาไปตามลำเรือ พระราชพิธีเหล่านี้ไม่ว่ากล้องชั้นเทพคนชั้นเซียนแค่ไหนก็ไม่สู้การมาเห็นของจริงด้วยตาตนเอง น่ายินดีเป็นยิ่งนัก ที่เรามีบรรพบุรุษที่เก่งกาจสามารถถึงเพียงนี้

นอกจากตัวเรือพระราชพิธีแล้ว บริเวณโดยรอบ ยังจัดแสดงนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนเรือพระราชพิธี เรือจำลองขนาดเล็กแบบต่างๆ ส่วนประกอบของลำเรือ รวมไปถึงประเพณีและเครื่องแต่งกายของฝีพายอีกด้วยสถานที่แห่งนี้คืออีกหนึ่งเครื่องมือ หยุดเวลา ซึ่งได้หยุดผลงานทรงคุณค่าเอาไว้ให้ผู้ถือกำเนิดมาทีหลังได้ชม รอยแกะสลักทุกรอย ฝีแปรงทุกเส้น กระจกประดับทุกชิ้นล้วนมีเรื่องราว และความหมายที่ส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ค่าบำรุงในการเข้าชมในอัตราชาวไทยคนละ 20 บาท จัดว่าถูกมากเสียยิ่งกว่าข้าวหนึ่งจานเสียอีก หรือ ค่าธรรมเนียมการนำกล้องเข้าไปถ่ายภาพตัวละ 100 บาทก็ถูกอย่างมหาศาล เมื่อเทียบกับความทรงจำที่เราได้บันทึกผลงานแห่งแผ่นดินในระดับนี้

          พิพิธภัณฑ์เรือพระราชพิธีเปิดให้เข้าชมทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการในระหว่างเวลา 9.00 - 17.00 น.ปิดทำการเฉพาะวันขึ้นปีใหม่และวันสงกรานต์เท่านั้นสำหรับนักเรียนนักศึกษาในเครื่องแบบ พระภิกษุสามเณรและนักบวชในศาสนาต่างๆ สามารถเข้าชมโดยไม่เสียค่าธรรมเนียม โทร. 02-424-0004

วันอาทิตย์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2556

วันพฤหัสบดีที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2556

ประวัติการเห่เรือ

     การเห่เรือ เป็นกิจกรรมที่ควบคู่มากับการเดินทางทางน้ำ จำแนกได้ ๒ ประเภท คือ การเห่เรือในงานพระราชพิธี ที่เรียกว่า "การเห่เรือหลวง" และการเห่เรือสำหรับเที่ยวเตร่หรือในงาน พื้นบ้านที่เรียกว่า "เห่เรือเล่น" ปัจจุบันการเห่เรือเล่นลดความสำคัญลงไป คงมีแต่การเห่เรือหลวง ที่ดำรงอยู่และถือเป็นโบราณราชประเพณีที่ต้องรักษาไว้เป็นมรดกของชาติสืบต่อไป ที่มาของการเห่เรือนั้นไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าเป็นประเพณีของชนชาติต่าง ๆ หลากหลายชนชาติที่มีเรือพายใช้ เช่น อินเดีย จีน ญวน เป็นต้น ลักษณะที่พลพายจะขับร้องในเวลา พายเรือเพื่อให้เกิดความรื่นเริงในการเดินทาง และผ่อนคลายความเหนื่อยอ่อนลง

     สำหรับการเห่เรือ ของไทยนั้น นอกจากจะให้ความรื่นเริงแล้วยังเป็นการให้จังหวะเพื่อให้พลพายพายพร้อมกัน โดยทำเป็นทำนองเห่เรือที่แตกต่างกัน ๓ อย่าง ขึ้นอยู่กับความต้องการให้พลพายพายช้าหรือเร็ว เช่น ในขณะเริ่มออกเรือขณะพายเรือตามน้ำ จะใช้ทำนอง ช้าลวะเห่ เมื่อเรือจวนถึงที่ประทับจะใช้ทำนอง สวะเห่ และถ้าต้องการให้พายหนักจังหวะเร็วจะใช้ทำนองมูลเห่ สำหรับคนเห่หรือที่เรียกว่าต้นบท ต้องเลือกคนที่มีเสียงดีและเสียงดังพอให้ได้ยินไปทั่วลำเรือ ส่วนบทเห่เรือนั้นนิยมประพันธ์เป็น ร้อยกรอง หรืออาจอยู่ในรูปของกลอนสด และมีอยู่หลายสำนวนด้วยกัน ในสมัยโบราณจะใช้บทใด ไม่ได้กล่าวไว้ แต่เป็นที่รู้จักกันดีและเริ่มนำมาใช้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ แห่งราชวงศ์จักรี ได้แก่ กาพย์ห่อโคลงของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ ซึ่งนิพนธ์ไว้เมื่อตอนปลายกรุงศรีอยุธยา มี ๒ เรื่อง เรื่องแรก ขึ้นต้นว่า "พระเสด็จโดยแดนชล ทรงเรือต้นงามเฉิดฉาย" สันนิษฐานว่าทรงนิพนธ์สำหรับ เรือพระที่นั่งของพระองค์เอง เวลาตามขบวนเสด็จ ฯ

     ส่วนเรื่องที่ ๒ เป็นเรื่องพระยาครุฑลักนางกากี ซึ่งแต่เดิมคงใช้บทเห่เรือเรื่องนี้แต่เฉพาะเวลาทรงเรือประพาสที่ลับโดยลำพัง นอกจากนี้ยังมีบทเห่เรือ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ที่รู้จักในนามของ "กาพย์เห่เรือชมเครื่องคาวหวาน" ซึ่งเข้าใจกันว่าทรงพระราชนิพนธ์ในสมัยรัชกาลที่ ๑ เพื่อชมสมเด็จพระศรี สุริเยนทราบรมราชชนนี ครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ ด้วยทรงแต่งเครื่องเสวยได้ไม่มีผู้ใดเสนอในสมัยนั้น ปัจจุบันแม้ว่าจะมีบทเห่เรือสำนวนใหม่ ๆ เกิดขึ้น แต่บทเห่เรือเหล่านั้นก็อาศัย หลักเกณฑ์ และรูปแบบของบทเห่เรือเก่าที่ยังคงหลงเหลืออยู่

การแต่งกายของผู้ประจำเรือ


พนักงานเห่เรือ
คนสัญญาณเรือพระที่นั่ง
นายเรือพระที่นั่ง
ฝีพายเรือรูปสัตว์
นายเรือพระที่นั่งทรง
นายเรือ
ฝีพายเรือพระที่นั่ง
ฝีพายเรือดั้ง
 

     การแต่งกายของผู้ทำหน้าที่ในขบวนเรือพระราชพิธี มีลักษณะต่าง ๆ ดังนี้
     เจ้าหน้าที่ฝีพายของเรือพระที่นั่ง จะใช้หมวกทรงประพาสสักหลาดสีแดงขลิบแถบลูกไม้ใบข้าว เสื้อเป็นสักหลาดสีแดงขลิบลูกไม้ใบข้าวเช่นเดียวกัน ส่วนกางเกงเป็นผ้าสีดำ ใช้ผ้ารูเซีย หรือผ้าเสิร์จ แต่ฝีพายของเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช นั้น จะต่างออกไปคือ เสื้อจะเปลี่ยนจากขลิบลูกไม้ใบข้าวเป็นขลิบเหลือง ส่วนอย่างอื่นเหมือนเดิมทุกอย่าง
     นายเรือพระที่นั่งของเรือสุพรรณหงส์จะแต่งกายแตกต่างจากนายเรือลำต่าง ๆ คือ จะสวมหมวกทรงประพาสโหมดเทศยอดเกี้ยว เสื้ออัตลัดสีฟ้า รัดประคด ส่วนผู้ควบคุมเรือพระที่นั่งจะแต่งกายโดยใช้หมวกทรงประพาสโหมดเทศยอดเกี้ยว เสื้อโหมดเทศสีแดงสด ผ้าเกี้ยวลาย นอกจากนั้นจะเป็นกรมวังคู่หน้า คู่หลัง ใส่หมวกทรงประพาสสีน้ำเงินยอดเกี้ยว เสื้อนอกขาวแบบราชการ ผ้าม่วงเชิง
     คนธงท้ายเรือพระที่นั่งซึ่งอยู่ท้ายเรือพระที่นั่งทั้ง ๔ ลำ รวม ๔ นาย จะแต่งกายด้วยหมวกทรงประพาส โหมดเทศยอดจุก เสื้ออัตลัดสีแดง ผ้าเกี้ยวลาย ชุดของคนธงท้ายเรือรูปสัตว์ จะใส่หมวกหูกระต่ายสีแดง เสื้อเข้มขาบไหม ผ้าเกี้ยวลาย รัดประคดโหมดเทศ
     ฝีพายเรือรูปสัตว์จะใส่หมวกสังกะสีลายยันต์สีแดง เสื้อเสนากุฎมีลวดลายจีนเป็นหน้าขบ
     นายท้ายเรือที่มีอยู่ลำละ ๒ นาย รวมแล้ว ๑๐๔ นาย จะใช้ชุดเหมือนกันหมด คือ ใช้หมวกทรงประพาส โหมดเทศยอดเกี้ยว เสื้ออัตลัดสีเขียว รัดประคดโหมดเทศ ผ้าเกี้ยวลาย
     สำหรับชุดที่แพงสุด คือ ชุดของผู้บัญชาการเรือ ต้องสั่งผ้าเยียรบับจากประเทศอินเดีย การตัดต้องใช้ฝีมือมาก ต้องวัดตัว ตัดรูปแบบเสื้อสูทสากล ไม่มีลวดลายอื่น
     เสื้อเสนากุฎของฝีพายเรือรูปสัตว์ต้องทำบล็อคแล้วก็พิมพ์ขึ้นมาเพราะมีหลายสี เวลาพิมพ์ต้องพิมพ์ทีละสี มีสีแดง สีดำ สีผ้าอาจจะไม่เหมือนของเดิมนัก แต่ก็พยายามให้คงเดิมมากที่สุด
     ชุดของคนให้สัญญาณเรือรูปสัตว์จะใช้ผ้าไหมจีนตัดเย็บ มีลวดลายเป็นดอกซากุระ ซึ่งหากจะให้ใช้ผ้าที่มีลวดลายเป็นดอกซากุระแบบเดิมก็หายากแล้ว เพราะเดี๋ยวนี้ขนาดของดอกจะไม่เท่ากับของเก่า แต่ก็พยายามหาให้ใกล้เคียงของเดิม

วันพฤหัสบดีที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2556


ความเป็นมาการเสด็จพระราชดำเนิน โดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค


     การเสด็จพระราชดำเนินของพระมหากษัตริย์ไทยนับแต่โบราณกาลมา นอกจากการเสด็จพระราชดำเนินทางบก ที่เรียกว่า "พยุหยาตราสถลมารค" แล้ว การเสด็จพระราชดำเนินทางน้ำ คือ พยุหยาตราชลมารค" ก็เป็นเส้นทางการคมนาคมที่สำคัญยิ่งเช่นกัน ตั้งแต่ครั้งสมัยสุโขทัยเป็น ราชธานีของไทยเรา ปรากฏว่าพระร่วงทรงเรือออกไปลอยกระทงหรือพิธีจองเปรียง ณ กลางสระกลางน้ำ พร้อมทั้งเผาเทียนเล่นไฟในยามเพ็ญเดือนสิบสอง ต่อมาสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ซึ่งเป็นเมืองเกาะล้อมรอบไปด้วยแม่น้ำลำคลองมากมายหลายสาย ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวกรุงเก่าจึงต้องอาศัยเรือ ในการสัญจรไปมา รวมทั้งในเวลารบทัพจับศึกก็จะใช้กระบวนทัพเรือเป็นสำคัญ จึงปรากฏว่ามีการสร้างเรือรบมากมายในสมัยกรุงศรีอยุธยา
     ในเวลาบ้านเมืองปราศจากศึกสงครามได้ใช้เรือรบฝึกซ้อมกระบวนยุทธ์กันเป็นนิจ เพราะฉะนั้นเมื่อถึงฤดูน้ำหลากอันเป็นเวลาที่ราษฎรว่างจากการทำนา จึงเรียกระดมพลมาฝึกซ้อมกระบวนทัพเรือ โดยอาศัยฤดูกาลประจวบกับเป็นช่วงของประเพณีการทอดกฐิน พระเจ้าแผนดินจึง เสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินโดยกระบวนเรือรบแห่แหน เพื่อให้ไพรพลได้รื่นเริงในการกุศล จึงจัดเป็นประเพณีที่แห่เสด็จกฐิน
     นอกจากนั้นกระบวนพยุหยาตราชลมารคในอดีต ยังได้จัดในคราวที่พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินไปในการต่างๆ ทั้งส่วนพระองค์และที่เป็นพระราชพิธีตลอดจนโอกาสสำคัญ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก การเสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการรอยพระพุทธบาท การอัญเชิญ พระพุทธรูปที่สำคัญจากหัวเมืองเข้าประดิษฐานในเมืองหลวง การต้อนรับทูตต่างประเทศ เป็นต้น

ประวัติความเป็นมาของเรือพระราชพิธี (๔)

     และเนื่องในวโรกาสมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ ๕๐ ปี ในวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๙ กองทัพเรือได้ร่วมเฉลิมฉลองวาระโอกาสอันสำคัญยิ่งนี้ ด้วยการสร้างเรือพระที่นั่งลำใหม่โดยใช้โขนเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณลำเดิมเป็นต้น แบบ เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อม ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงใช้ในพระราชพิธีสำคัญ ๆ ต่อไป และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานนามเรือพระที่นั่งลำใหม่นี้ว่า“ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ ” ซึ่งจะปรากฏ เป็นสัญลักษณ์แห่งพระบรมเดชานุภาพและเป็นเกียรติยศสำหรับแผ่นดินสืบไปชั่วกาลนาน
     เรือที่ประกอบอยู่ในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซึ่งนอกจากเรือพระที่นั่งแล้วยังมีเรืออีกมากมายหลายซึ่งมีลักษณะหน้าที่ต่างๆกันออกไปซึ่ง ก็มี ดังนี้
     - เรือดั้ง คือ เรือที่ทำหน้าที่ป้องกันกระบวนหน้า เพราะคำว่า “ ดั้ง ” หมายถึง “ หน้า ” เรือดั้งเป็นเรือที่มีส่วนหัวตั้งสูงงอนขึ้นไปเป็นเรือไม้ก็มี เป็น เรือปิดทองก็มี
     - เรือพิฆาต เป็นเรือรูปสัตว์ที่เคลื่อนไหวรวดเร็ว ทำหน้าที่นำกระบวนเรือตับแรก เรือพิฆาต แม้จะเป็นเรือรูปสัตว์เช่นเดียวกับเรืออื่น ๆ แต่เป็นเรือ รูปสัตว์ชั้นรอง จึงเขียนรูปด้วยสีธรรมดาไม่ปิดทอง
     - เรือประตู คือ เรือที่ใช้คั่นระหว่างกระบวนย่อย
     - เรือแซง เรือเล็กและเร็ว จัดเป็นเรืออารักขาพระมหากษัตริย์
    -  เรือกัน เป็นเรือที่ป้องกันศัตรูมิให้จู่โจมมาถึงเรือพระที่นั่ง ใกล้ชิดยิ่งกว่าเรือแซง
     - เรือคู่ชัก คือ เรือไชยหรือเรือรูปสัตว์ที่ทำหน้าที่ลากเรือพระที่นั่ง ซึ่งใหญ่และหนักมากแต่ในบางครั้ง ฝีพายไม่เพียงพอ
     - เรือตำรวจ คือ เรือที่พระตำรวจหรือข้าราชการในพระราชสำนักลงประจำหน้าที่เป็นองครักษ์
     - เรือรูปสัตว์ มีหัวเรือเป็นศรีษะสัตว์ เรือเหล่านี้อาจจะเป็นเรือพิฆาต เรือเหล่าแสนยากร เรือพระที่นั่งได้ทั้งสิ้น สุดแท้แต่ความโอ่อ่าของเรือ ซึ่งใน สมัยต่าง ๆ เคยมีเรือรูปสัตว์ดังต่อไปนี้ คือ ราชสีห์ ม้า เลียงผา นกอินทรี สิงโต มังกร นาค ครุฑ ปักษี หงส์ เหรา กระโห้ ฯลฯ
     - เรือกระบวนปิดทอง เป็นเรือที่มีหัวปิดทองเป็นรูปต่าง ๆ สวยงาม ในสมัยรัชกาลที่ ๑ เป็นเรือเอกชัยและเรือศรีษะสัตว์ทั้งสิ้น
     - เรือกลอง คือ เรือสัญญาณ ที่ให้เรืออื่นหยุดพายหรือจ้ำโดยใช้กลอง ต่อมาใช้แตรฝรั่งที่มีเสียงดังไกลกว่าแทนแต่คงเรียกเรือกลองเช่นเดิม
     เรือพระราชพิธีชนิดต่าง ๆ เหล่านี้มีหน้าที่สำคัญในกระบวนเรือรบโบราณตั้งแต่ครั้งในอดีต อีกทั้งยังมีคุณค่ายิ่งทางด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติ ไทยเราเหล่าเรือที่ตกทอดมานี้จะได้รับการซ่อมแซมขึ้นใหม่อย่างสวยงาม เพื่อใช้ในกระบวนพยุหยาตราชลมารค ซึ่งไม่เพียงแต่แสดงแสนยานุภาพ อันยิ่งใหญ่ของกองทัพเรือไทยแต่เป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งชาติ ที่ความยิ่งใหญ่แห่งวัฒนธรรมไทยจะได้ประจักษ์ต่อสายตานานาอารยประเทศ ไปอีกนานเท่านาน


ประวัติความเป็นมาของเรือพระราชพิธี (๓)

     สำหรับเรือพระที่นั่งแทบทุกลำจะต้องทอดบัลลังก์กัญญา ทอดบัลลังก์บุษบก หรือพระที่นั่งกง ในส่วนกลางลำเรืออันเป็นที่ประทับ ส่วนบัลลังก์ กัญญา มีหลังคาเป็นประทุนรูปคุ่ม มีม่านทอดและที่สำหรับนั่งราบ หรือนั่งห้อยเท้าอย่างเก้าอี้ได้ ส่วนบัลลังก์บุษบก เป็นรูปบุษบกมีฐานสี่เสา หลังคา บุษบกมี ๕ ชั้น ปลายยอดมีพุ่มทรงข้าวบิณฑ์ และพระที่นั่งกง รูปร่างคล้ายเก้าอี้และยกขึ้นสูง ประดับประดาอย่างงดงาม
     สำหรับในสมัยโบราณนั้นมีเรือพระที่นั่งมากมายหลายลำ แต่ที่มีหลักฐานกล่าวถึงกระบวนเรือ และชื่อเรือพระที่นั่งที่เก่าแก่ที่สุดของไทยคือพระเรือ พระที่นั่งชัยเฉลิมธรนินกับเรือพระที่นั่งชัยสินธุพิมาน ในหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้ปรากฏว่ามี เรือพระที่นั่งในรัชกาล สมเด็จพระพิชัยราชาชื่อ อ้อมแก้วแสนเมืองมา และ ไกรแก้ว ส่วนในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ มีเรือพระที่นั่งชื่อ สุพรรณหงส์ และในสมัย สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้พบบันทึกว่ามีเรือพระที่นั่งสุพรรณวิมานนาวา ซึ่งทรงใช้เพื่อเสด็จไปยังเมืองเพชรบุรีและสามยอด ในสมัยสมเด็จพระ นารายณ์มหาราช ได้โปรดเกล้า ฯ ให้มีการเขียนภาพ ริ้วกระบวนเสด็จไว้ในหนังสือ “ ริ้วกระบวนแห่พยุหยาตราชลมารค สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ” ซึ่งได้ถูกทำลายไปหมดแล้ว มีชื่อเรือพระที่นั่งหลายลำปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มนี้ เช่น เรือพระที่นั่งศรีสมรรถไชย เรือพระที่นั่งชลวิมานไชย เรือพระที่ นั่งไกรษรมาศ และเรือพระที่นั่งศรีพิมานไชย เป็นต้น ต่อจากแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา ปรากฏชื่อเรือพระ ที่นั่งไกรสรมุขพิมาน และรัชกาลสมเด็จพระสรรเพ็ชญ์ที่ ๘ หรือพระเจ้าเสือ มีเรือพระที่นั่งมหานาวาท้ายรถ และเรือพระที่นั่งเอกชัย จนถึงปลายกรุง ศรีอยุธยา แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ มีเรือพระที่นั่งไกรสรมุขพิมานและเรือพระที่นั่งศรีสมรรถไชย ซึ่งในยุคนี้ก็ยังมีพระราชพิธีกระบวนพยุหยา ตราชลมารคอยู่
     เมื่อสิ้นกรุงศรีอยุธยา กระบวนเรืออันยิ่งใหญ่ของไทยที่สร้างสมติดต่อกันมาหลายรัชสมัย ก็สูญสิ้นไปในกองเพลิงเป็นจำนวนมาก จนถึงแผ่นดิน สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ทรงเร่งให้สร้างเรือพระราชพิธีขึ้นสำหรับใช้ราชการศึกสงคราม ปรากฏเรือพระที่นั่งในรัชกาลนี้คือ เรือพระที่นั่ง สุวรรณพิชัยนาวาท้ายรถและเรือพระที่นั่งกราบ
     ในสมัยรัชกาลพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีเรือพระที่นั่งปรากฏอยู่หลายลำ เช่น เรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งบัลลังก์แก้วจักรพรรดิ สวัสดิชิงชัย บัลลังก์บุษบกพิศาล พิมานเมืองอินทร์ บัลลังก์ทินกรส่องศรี สำเภาทองท้ายรถ มณีจักรพรรดิ และศรีสมรรถไชย ในสมัยรัชกาลที่ ๓ มี การสร้างเรือพระราชพิธีขึ้นอีกหลายลำ คือ เรือพระที่นั่งรัตนดิลก ศรีสุนทรไชย มงคลสุบรรณ สุวรรณเวหา และ สุดสายตา ในรัชกาลที่ ๔ โปรด ฯ ให้สร้างเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช รัชกาลที่ ๕ โปรด ฯ ให้สร้างเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ ส่วนรัชกาลที่ ๖ โปรด ฯ ให้สร้างเรือพระที่นั่งสุพรรณ หงส์แทนเรือพระที่นั่ง ศรีสุพรรณหงส์องค์เดิม และสร้างเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชแทนลำเดิมเช่นกัน

ประวัติความเป็นมาของเรือพระราชพิธี (๒)

     อย่างไรก็ดี เรือพระราชพิธีเป็นชื่อที่ใช้เรียกรวมถึงเรือชนิดต่างๆ ซึ่งใช้ประกอบในกระบวน พยุหยาตราชลมารคโดยที่เรือเหล่านี้ล้วนมีลักษณะ และหน้าที่ต่างกันออกไป
     ในกระบวนพยุหยาตราชลมารค นั้น เรือที่สำคัญที่สุดคือ เรือพระที่นั่ง ซึ่งเป็น เรือที่พระมหากษัตริย์ประทับ ถ้าหากจะเทียบประเภทกับเรือรบโบ ราณแล้วเรือชนิดนี้ก็คือเรือไชยนั่นเอง เรือพระที่นั่งทุกลำจะประดับประดา และเขียนลวดลายวิจิตรยิ่งแต่มีข้อที่แตกต่างจากเรือลำอื่นก็คือเรือพระที่นั่ง จะไม่มีการกระทุ้งเส้าให้จังหวะฝีพาย โดยเปลี่ยนมาใช้กรับแทน นอกเหนือจากนี้แล้ว เรือพระที่นั่งยังมีชื่อที่เรียกต่าง ๆ ออกไป ได้แก่
     - เรือต้น คือ เรือพระที่นั่งของพระมหากษัตริย์ ซึ่งในภายหลังหมายถึงเรือลำที่เสด็จ ฯ ลำลองเป็นการประพาสต้น
     - เรือพระที่นั่งทรง , เรือพระที่นั่งรอง คือ เรือลำที่พระมหากษัตริย์ประทับ และขณะเดียวกันก็มี เรือพระที่นั่งอีกลำสำรองไว้ในกรณีที่เรือพระที่นั่ง ทรงชำรุด
     - เรือพลับพลา คือ เรือที่ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์เปลี่ยนเครื่องทรง
     - เรือพระที่นั่งกิ่ง เป็นเรือชั้นสูงสุดของเรือพระที่นั่ง ซึ่งจะสวยงามเป็นพิเศษ มีความเป็นมาว่ากษัตริย์ไทยในสมัยอยุธยา พระองค์หนึ่งได้รับชัย ชนะกลับจากสงคราม มีผู้หักกิ่งไม้มาปักเข้าที่หัวเรือ นับแต่นั้นมาก็มีการเขียนลายกิ่งไม้ประดับที่หัวเรือด้วยและโปรดเกล้าฯให้เรียกว่า “เรือพระที่นั่งกิ่ง”
     - เรือพระที่นั่งเอกชัย เป็นเรือพระที่นั่งเกือบเทียบเท่าเรือพระที่นั่งกิ่ง มีการแกะสลักลวดลายสวยงามเช่นกันมักโปรดเกล้าฯให้พระบรมวงศานุวงศ์ ประทับในเรือพระที่นั่งเอกชัยร่วมไปในกระบวน พยุหยาตราชลมารค ครั้นถึง สมัยรัตนโกสินทร์ก็แทบจะไม่มีการแบ่งแยกชั้น เรือพระที่นั่งกิ่ง และเรือ พระที่นั่งเอกชัยเลย
     - เรือพระที่นั่งศรีสักหลาด เป็นเรือที่มักดาดกัญญาด้วยสักหลาดทุกลำ ต่อมาเรียกเพียงสั้น ๆ ว่า “เรือพระที่นั่งศรี” เรือพระที่นั่งชนิดนี้มักมีลวด ลายสวยงามตลอดข้างลำเรือ ใช้สำหรับการเสด็จฯ ลำลอง ไม่ได้นำเข้ากระบวนพระราชพิธีต่อมาภายหลังได้นำเข้ากระบวนพยุหยาตราด้วยเช่นกัน
     - เรือพระที่นั่งกราบ เรือพระที่นั่งลำเล็กสำหรับใช้ถ่ายลำเสด็จเข้าคูคลองเล็กๆ
     - เรือพระประเทียบ คือเรือที่นั่งสำหรับเจ้านายฝ่ายใน

ประวัติความเป็นมาของเรือพระราชพิธี (๑)

     สำหรับเรือพระราชพิธีที่เข้าร่วมในกระบวนพยุยาตราชลมารคนั้นแรกเริ่มเดิมทีนั้น “เรือพระราชพิธี” ได้หามีไม่คงมีแต่เรือรบโบราณซึ่งใช้ในแม่น้ำและ ออกสู่ท้องทะเล ต่อมาการรบทัพจับศึกในแม่น้ำหมดสิ้นความสำคัญไปทีละน้อย เรือรบในแม่น้ำซึ่งเป็นเรือยาวทำด้วยไม้ใช้ฝีพายล้วนเหล่านี้จึงกลายมาเป็น เรือที่ใช้ในพระราชพิธีต่าง ๆ ที่พระมหากษัตริย์ไทยเสด็จพระราชดำเนินโดย กระบวนพยุหยาตราชลมารคมาจนเท่าทุกวันนี้
     ซึ่งในประวัติศาสตร์การรบพุ่งของชาติไทยเราอันมีราชธานีเก่า คือ กรุงศรีอยุธยา ซึ่งแวดล้อมด้วยแม่น้ำ ลำคลองมากมาย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะ ต้องใช้เรือรบในแม่น้ำเป็นสำคัญ และ ในรัชสมัยของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ ก็ทรงมียุทธวิธีที่จะรักษาพระนครโดยอาศัยกำลังทัพเรือ จึงทรงประ ดิษฐ์เรือไชยและเรือรูปสัตว์ขึ้นต่อมาก็ยังประดิษฐ์เรือกราบขึ้นอีกชนิดหนึ่งด้วย เรือรบโบราณเหล่านี้จึงแบ่งประเภทออกเป็น ๔ ชนิด คือ
     ๑. เรือแซ เป็นเรือโบราณของไทยซึ่งใช้ในแม่น้ำ เหตุที่ชื่อ “ แซ ” นั้น หมายถึงแม่น้ำ เรือชนิดนี้ใช้ในการลำเลียงพล ศาสตราวุธ ยุทโธปกรณ์ เสบียง กรัง เป็นเรือที่แล่นค่อนข้างช้า
     ๒. เรือไชย เป็นเรือที่ใช้ลำเลียงพลเช่นกัน และแล่นเร็วกว่าเรือแซ
     ๓. เรือรูปสัตว์ เรือชนิดนี้จะทำหัวเรือเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ มีครุฑ พญานาค เป็นต้น ใต้รูปสัตว์ก็จะมีช่องวางปืนใหญ่ ใช้เป็นเรือปืนด้วย
     ๔. เรือกราบ มีลักษณะคล้ายเรือไชย แต่แล่นเร็วกว่า
     ในสมัยต่อมาการรบทัพจับศึกในแม่น้ำได้หมดสิ้นไปทีละน้อย เรือรบในแม่น้ำเหล่านี้ จึงได้กลายมาเป็นเรือพระราชพิธีต่าง ๆ แม้ว่าจะสร้างขึ้นด้วย จุดประสงค์เพื่อใช้ในการสงครามแต่ก็เป็นเรือที่แกะสลักปิดทองเป็นลวดลายวิจิตรสวยงาม โดยเฉพาะหัวเรือและท้ายเรือเป็นส่วนที่สวยงามมาก บ้าง ก็จะเป็นรูปสัตว์ ยักษ์ และลิง ในวรรณคดีไทย ส่วนลำเรือนั้น ขุดจากซุงทั้งต้นส่วนใหญ่นิยมใช้ไม้ตะเคียน เรือบางลำจึงจะเห็นว่าทำจากต้นไม้ที่ใหญ่ มาก เช่น เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ มีความยาวถึง ๔๔.๙๐ เมตร และความกว้าง ๓.๑๕ เมตร และเรือทุกลำล้วนใช้ฝีพายจำนวนมากมายในการแล่นเรือ ให้เคลื่อนไปอย่างคล่องแคล่วราวมีชีวิตชีวา

วันพฤหัสบดีที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2555



 เรือพระราชพิธี





     ตามบันทึกของ นิโคลาส แชแวร์ ราชทูตฝรั่งเศสซึ่งเดินทางเข้ามาในสมัยนั้น ได้บันทึกไว้ในหนังสือ ประวัติศาสตร์แห่งราชอาณาจักรสยาม ถึงกระบวนเรือไว้ว่า
     "ไม่สามารถเทียบความงามกับขบวนเรืออื่นใดได้ เป็นขบวนเรือที่มโหฬาร มีเรือกว่า ๒๐๐ ลำ โดยมีเรือพระที่นั่งพายเป็นคู่ๆไปข้างหน้า เรือพระที่นั่งนั้น ใช้ฝีพายของพวกแขนแดงที่ได้รับการฝึกพายมาจนชำนาญ ทุกคนสวมหมวก เสื้อ ปลอกเข่า ปลอกแขน มีทองคำประกอบ เวลาพายพร้อมกับเป็นจังหวะจะโคน พายนั้นก็เป็นทอง เสียงพายกระทบเป็นเสียงประสานไปกับทำนองเพลงยอพระเกียรติของพระเจ้าแผ่นดิน"
     จากบันทึกนี้แสดงให้เห็นถึงความรู้สึกของชาวต่างชาติที่ได้พบกับวัฒนธรรม อันยิ่งใหญ่ของประเทศไทยเรานี้ สำหรับชาวไทยเช่นพวกเรากระบวนเรือพระราชพิธีนี้ ถือว่าเป็นสมบัติของชาติที่ชาวไทยต้องรักษาไว้ เพราะสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เชิดหน้าชูตาของประเทศต่อายประเทศต่าง ๆ