จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพฤหัสบดีที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2556


ประวัติความเป็นมาของเรือพระราชพิธี (๔)

     และเนื่องในวโรกาสมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ ๕๐ ปี ในวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๙ กองทัพเรือได้ร่วมเฉลิมฉลองวาระโอกาสอันสำคัญยิ่งนี้ ด้วยการสร้างเรือพระที่นั่งลำใหม่โดยใช้โขนเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณลำเดิมเป็นต้น แบบ เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อม ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงใช้ในพระราชพิธีสำคัญ ๆ ต่อไป และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานนามเรือพระที่นั่งลำใหม่นี้ว่า“ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ ” ซึ่งจะปรากฏ เป็นสัญลักษณ์แห่งพระบรมเดชานุภาพและเป็นเกียรติยศสำหรับแผ่นดินสืบไปชั่วกาลนาน
     เรือที่ประกอบอยู่ในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซึ่งนอกจากเรือพระที่นั่งแล้วยังมีเรืออีกมากมายหลายซึ่งมีลักษณะหน้าที่ต่างๆกันออกไปซึ่ง ก็มี ดังนี้
     - เรือดั้ง คือ เรือที่ทำหน้าที่ป้องกันกระบวนหน้า เพราะคำว่า “ ดั้ง ” หมายถึง “ หน้า ” เรือดั้งเป็นเรือที่มีส่วนหัวตั้งสูงงอนขึ้นไปเป็นเรือไม้ก็มี เป็น เรือปิดทองก็มี
     - เรือพิฆาต เป็นเรือรูปสัตว์ที่เคลื่อนไหวรวดเร็ว ทำหน้าที่นำกระบวนเรือตับแรก เรือพิฆาต แม้จะเป็นเรือรูปสัตว์เช่นเดียวกับเรืออื่น ๆ แต่เป็นเรือ รูปสัตว์ชั้นรอง จึงเขียนรูปด้วยสีธรรมดาไม่ปิดทอง
     - เรือประตู คือ เรือที่ใช้คั่นระหว่างกระบวนย่อย
     - เรือแซง เรือเล็กและเร็ว จัดเป็นเรืออารักขาพระมหากษัตริย์
    -  เรือกัน เป็นเรือที่ป้องกันศัตรูมิให้จู่โจมมาถึงเรือพระที่นั่ง ใกล้ชิดยิ่งกว่าเรือแซง
     - เรือคู่ชัก คือ เรือไชยหรือเรือรูปสัตว์ที่ทำหน้าที่ลากเรือพระที่นั่ง ซึ่งใหญ่และหนักมากแต่ในบางครั้ง ฝีพายไม่เพียงพอ
     - เรือตำรวจ คือ เรือที่พระตำรวจหรือข้าราชการในพระราชสำนักลงประจำหน้าที่เป็นองครักษ์
     - เรือรูปสัตว์ มีหัวเรือเป็นศรีษะสัตว์ เรือเหล่านี้อาจจะเป็นเรือพิฆาต เรือเหล่าแสนยากร เรือพระที่นั่งได้ทั้งสิ้น สุดแท้แต่ความโอ่อ่าของเรือ ซึ่งใน สมัยต่าง ๆ เคยมีเรือรูปสัตว์ดังต่อไปนี้ คือ ราชสีห์ ม้า เลียงผา นกอินทรี สิงโต มังกร นาค ครุฑ ปักษี หงส์ เหรา กระโห้ ฯลฯ
     - เรือกระบวนปิดทอง เป็นเรือที่มีหัวปิดทองเป็นรูปต่าง ๆ สวยงาม ในสมัยรัชกาลที่ ๑ เป็นเรือเอกชัยและเรือศรีษะสัตว์ทั้งสิ้น
     - เรือกลอง คือ เรือสัญญาณ ที่ให้เรืออื่นหยุดพายหรือจ้ำโดยใช้กลอง ต่อมาใช้แตรฝรั่งที่มีเสียงดังไกลกว่าแทนแต่คงเรียกเรือกลองเช่นเดิม
     เรือพระราชพิธีชนิดต่าง ๆ เหล่านี้มีหน้าที่สำคัญในกระบวนเรือรบโบราณตั้งแต่ครั้งในอดีต อีกทั้งยังมีคุณค่ายิ่งทางด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติ ไทยเราเหล่าเรือที่ตกทอดมานี้จะได้รับการซ่อมแซมขึ้นใหม่อย่างสวยงาม เพื่อใช้ในกระบวนพยุหยาตราชลมารค ซึ่งไม่เพียงแต่แสดงแสนยานุภาพ อันยิ่งใหญ่ของกองทัพเรือไทยแต่เป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งชาติ ที่ความยิ่งใหญ่แห่งวัฒนธรรมไทยจะได้ประจักษ์ต่อสายตานานาอารยประเทศ ไปอีกนานเท่านาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น