จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพฤหัสบดีที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2556

ประวัติการเห่เรือ

     การเห่เรือ เป็นกิจกรรมที่ควบคู่มากับการเดินทางทางน้ำ จำแนกได้ ๒ ประเภท คือ การเห่เรือในงานพระราชพิธี ที่เรียกว่า "การเห่เรือหลวง" และการเห่เรือสำหรับเที่ยวเตร่หรือในงาน พื้นบ้านที่เรียกว่า "เห่เรือเล่น" ปัจจุบันการเห่เรือเล่นลดความสำคัญลงไป คงมีแต่การเห่เรือหลวง ที่ดำรงอยู่และถือเป็นโบราณราชประเพณีที่ต้องรักษาไว้เป็นมรดกของชาติสืบต่อไป ที่มาของการเห่เรือนั้นไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าเป็นประเพณีของชนชาติต่าง ๆ หลากหลายชนชาติที่มีเรือพายใช้ เช่น อินเดีย จีน ญวน เป็นต้น ลักษณะที่พลพายจะขับร้องในเวลา พายเรือเพื่อให้เกิดความรื่นเริงในการเดินทาง และผ่อนคลายความเหนื่อยอ่อนลง

     สำหรับการเห่เรือ ของไทยนั้น นอกจากจะให้ความรื่นเริงแล้วยังเป็นการให้จังหวะเพื่อให้พลพายพายพร้อมกัน โดยทำเป็นทำนองเห่เรือที่แตกต่างกัน ๓ อย่าง ขึ้นอยู่กับความต้องการให้พลพายพายช้าหรือเร็ว เช่น ในขณะเริ่มออกเรือขณะพายเรือตามน้ำ จะใช้ทำนอง ช้าลวะเห่ เมื่อเรือจวนถึงที่ประทับจะใช้ทำนอง สวะเห่ และถ้าต้องการให้พายหนักจังหวะเร็วจะใช้ทำนองมูลเห่ สำหรับคนเห่หรือที่เรียกว่าต้นบท ต้องเลือกคนที่มีเสียงดีและเสียงดังพอให้ได้ยินไปทั่วลำเรือ ส่วนบทเห่เรือนั้นนิยมประพันธ์เป็น ร้อยกรอง หรืออาจอยู่ในรูปของกลอนสด และมีอยู่หลายสำนวนด้วยกัน ในสมัยโบราณจะใช้บทใด ไม่ได้กล่าวไว้ แต่เป็นที่รู้จักกันดีและเริ่มนำมาใช้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ แห่งราชวงศ์จักรี ได้แก่ กาพย์ห่อโคลงของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ ซึ่งนิพนธ์ไว้เมื่อตอนปลายกรุงศรีอยุธยา มี ๒ เรื่อง เรื่องแรก ขึ้นต้นว่า "พระเสด็จโดยแดนชล ทรงเรือต้นงามเฉิดฉาย" สันนิษฐานว่าทรงนิพนธ์สำหรับ เรือพระที่นั่งของพระองค์เอง เวลาตามขบวนเสด็จ ฯ

     ส่วนเรื่องที่ ๒ เป็นเรื่องพระยาครุฑลักนางกากี ซึ่งแต่เดิมคงใช้บทเห่เรือเรื่องนี้แต่เฉพาะเวลาทรงเรือประพาสที่ลับโดยลำพัง นอกจากนี้ยังมีบทเห่เรือ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ที่รู้จักในนามของ "กาพย์เห่เรือชมเครื่องคาวหวาน" ซึ่งเข้าใจกันว่าทรงพระราชนิพนธ์ในสมัยรัชกาลที่ ๑ เพื่อชมสมเด็จพระศรี สุริเยนทราบรมราชชนนี ครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ ด้วยทรงแต่งเครื่องเสวยได้ไม่มีผู้ใดเสนอในสมัยนั้น ปัจจุบันแม้ว่าจะมีบทเห่เรือสำนวนใหม่ ๆ เกิดขึ้น แต่บทเห่เรือเหล่านั้นก็อาศัย หลักเกณฑ์ และรูปแบบของบทเห่เรือเก่าที่ยังคงหลงเหลืออยู่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น